ยุคสมัยของ เซอร์ อเล็กซ์ : 1986-1991

เปิดตัวผู้จัดการทีมคนใหม่ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ต่อหน้าแฟนบอลในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด
กรุงโรมไม่ได้สร้างกันในวันเดียว เช่นเดียวกับเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่เข้ามารับตำแหน่งในปี 1986 ซึ่งเขาพาทีมจบอันดับที่ครึ่งล่างของตารางคะแนนในฤดูกาลนั้น
เขาให้โอกาสกับทุกคนในการพิสูจน์ตนเอง เช่นเดียวกับการให้เวลานักเตะปรับตัว และรอคอยจนถึงวันที่เขามีอำนาจอย่างเด็ดขาดในสโมสรแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม มันมีสัญญาณที่ดีเล็กน้อยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงบ็อกซิ่งเดย์ นั่นก็คือชัยชนะเหนือลิเวอร์พูลท่ามกลางแฟนบอลที่แห่เข้ามาชมเกมกันเต็มสนามแอนฟิลด์ นี่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของฤดูกาล
สำหรับในเอฟเอ คัพ นั้นน่าผิดหวังอยู่หน่อยที่ต้องพ่ายแพ้ต่อโคเวนทรีไป อย่างไรก็ตามมันก็ต้องมีการยกเครื่องกันขนานใหญ่ในโอลด์ แทรฟฟอร์ด ทีมของ รอน แอตกินสัน อาจจะได้ชูถ้วยแชมป์กันมาบ้างก็จริง แต่หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จให้มากกว่านี้ มันก็ถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในปี 1987
ความพ่ายแพ้ต่อสเปอร์สในเกมเยือน 0 – 4 ได้สอนบทเรียนอะไรมากมายกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเก็บชัยชนะนอกบ้านได้เพียงแค่นัดเดียวตลอดทั้งฤดูกาล ทำให้จบอันดับที่ 11 ตามหลังทั้งนอริช ซิตี้, วิมเบิลดัน, ลูตัน ทาวน์ และวัตฟอร์ด
ฤดูกาลแรกแบบเต็มๆ ของเซอร์ อเล็กซ์ ทำให้เขามีหลายอารมณ์ผสมกันไป โดยการซื้อตัว วิฟ แอนเดอร์สัน และ ไบรอัน แม็คแคลร์ เข้ามา ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความฉลาดหลักแหลมในตัวเขา ลิเวอร์พูลนั้นคู่ควรกับตำแหน่งแชมป์แล้ว เมื่อพวกเขาทิ้งห่างรองจ่าฝูงถึง 9 แต้ม แต่ว่ารองจ่าฝูงที่ว่านั้นก็คือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยทีมปีศาจแดงลุยเก็บชัยชนะ 5 นัดรวดในช่วงโค้งสุดท้าย

หลังจากที่ กอร์ดอน สตรัคคั่น ช่วยซัดประตูให้ทีมเยือนที่เหลือผู้เล่นเพียง 10 คนบุกไปคว้าผลเสมอ 3 – 3 ออกมาจากถิ่นแอนฟิลด์ได้สำเร็จ ในการเตะฟุตบอลถ้วยนั้น พวกเขาต้องตกรอบอีกครั้ง คราวนี้ด้วยน้ำมือของอ็อกซ์ฟอร์ดในรายการลิตเติ้ลวู้ดส์ คัพ แถมดาวซัลโว 31 ประตูอย่างแม็คแคลร์ก็มาพลาดจุดโทษในนาทีสุดท้าย ทำให้แพ้ต่ออาร์เซนอลที่สนามไฮบิวรี่ในการแข่งขันเอฟเอ คัพ อีกด้วย

ไบรอัน ร็อบสัน และไบรอัน แม็คแคลร์
หลังจบฤดูกาล 2 นักเตะที่รับใช้ทีมมายาวนานอย่าง อาร์เธอร์ อัลบิสตัน และ เควิน โมแรน ก็ย้ายออกจากสโมสร โดยได้ มาร์ค ฮิวจ์ส หวนคืนสู่ถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด และ จิม เลห์ตัน ก็ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้รักษาประตูแทนที่ คริส เทอร์เนอร์ และ แกรี่ วอลช์
หลังจากที่จบเป็นอันดับ 2 ความคาดหวังจึงสูงขึ้นไปอีกในฤดูกาล 1988/89 แต่มาคราวนี้ทีมกลับทำได้แค่อันดับที่ 11 อีกครั้ง ไม่มีใครที่ผิดหวังกับผลงานไปมากกว่าผู้จัดการทีม “ในฤดูกาลนั้นมันไม่ใช่แค่เราพลาดเท่านั้น เราทำให้ทุกอย่างพังทลายกันเลย” เขายอมรับ “ผู้คนเริ่มพูดถึงคำสาปที่ปกคลุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่พูดกันตรงๆ เลยว่าผมไม่ได้มีความเชื่อเรื่องไร้สาระเหล่านั้น มันไม่มีทีมไหนที่สามารถยืนระยะได้โดยขาดขุมกำลังในทีมเป็นเวลานานหรอก”
อาการบาดเจ็บส่งผลให้เห็นชัดเจน เรมี่ โมเซส และ นิคกี้ วู้ด ถึงกับต้องแขวนสตั๊ด ขณะที่ นอร์แมน ไวท์ไซด์, วิฟ แอนเดอร์สัน และ โคลิน กิ๊บสัน ต่างก็แทบไม่ได้ลงสนามเลย เซอร์ อเล็กซ์เผยว่าเขารู้สึกอับอายอย่างมากที่ปล่อยให้ทีมขาดแคลนตัวผู้เล่นขนาดนั้น เมื่อเขาปล่อยตัวนักเตะอย่าง เจสเปอร์ โอลเซ่น, ปีเตอร์ ดาเวนพอร์ต และ กอร์ดอน สตรัคคั่น ออกจากทีมไป

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กับสองนักเตะใหม่ ไมค์ ฟีแลน และนีล เว็บบ์
6 เกมจาก 8 เกมสุดท้ายในลีกจบลงด้วยความพ่ายแพ้ และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทีมก็มาถึงในช่วงซัมเมอร์ของปี 1989 มีการทุ่มเงินซื้อตัวนักเตะคุณภาพเข้ามามากมาย นีล เว็บบ์, ไมค์ ฟีแลน, แดนนี่ วอลเลซ, พอล อินซ์ และ แกรี่ พัลลิสเตอร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นนักเตะอังกฤษได้ตบเท้าเข้ามาสู่ทีม แม้ว่าความพยายามในการเทคโอเวอร์สโมสรของ ไมเคิ่ล ไนท์ตัน ในตอนนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม
มันเป็นความจริงหากจะบอกว่าความกดดันได้ตกมาอยู่กับกุนซือชาวสก็อต หลังจากที่เขาใช้จ่ายเงินไปไม่น้อยเพื่อไล่ล่าถ้วยแชมป์ การที่ทีมจบอันดับที่ 13 บนตารางคะแนนจึงถือว่าต่ำกว่าความคาดหมายไปมาก แม้สุดท้ายเขาจะคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครองได้ในช่วงท้ายฤูดูกาลก็ตาม ดูเหมือนว่านักเตะหน้าใหม่จะต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะเล่นได้เข้าขากัน นั่นคือสิ่งที่เซอร์ อเล็กซ์ ยอมรับ ความพ่ายแพ้ต่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1 – 5 ถือเป็นประสบการณ์อันเลวร้ายของเขา การตามหลังมิลล์วอลล์ในครึ่งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เกือบจะส่งผลให้พวกเขาต้องร่วงลงไปในโซนหนีตกชั้น แต่ 2 ประตูในครึ่งหลังจากวอลเลซ และฮิวจ์ส ก็ช่วยฉุดทีมขึ้นมาได้
ลี มาร์ติน และ มาร์ค โรบินส์ ล้วนแต่เป็นผลผลิตที่ดีจากทีมชุดเยาวชน ทั้งคู่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ได้ โรบินส์โขกประตูชัยเหนือน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในรอบที่ 3 นั่นช่วยให้กระแสเรียกร้องให้ปลดผู้จัดการทีมซาลงไปพอสมควร จากนั้นทีมก็ลุยผ่านทั้งเฮเรฟอร์ด, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นเกมเยือนทั้งหมดมาได้ มันมาสนุกตื่นเต้นเอาในรอบรองชนะเลิศที่พบกับโอลด์ แฮม หลังจากเสมอกันมา 3 – 3 ที่เมน โร้ด โรบินส์ก็มายิงประตูชัยในช่วงต่อเวลาพิเศษนัดรีเพลย์ ทำให้ทีมปีศาจแดงได้ไปเล่นที่เวมบลีย์ ซึ่งนัดชิงชนะเลิศกับคริสตัล พาเลซ ก็จบลงด้วยผลเสมอ 3 – 3 อีกครั้ง

เลส ซีลี่ย์ กอดคอเซอร์ อเล็กซ์ ร่วมฉลองความสำเร็จกับแชมป์แรกในปี 1990
สถานการณ์ค่อนข้างหมิ่นเหม่ แต่เซอร์ อเล็กซ์ ก็กล้าตัดสินใจดร็อป จิม เลห์ตัน ที่ฟอร์มตกมานั่งข้างสนามในนัดรีเพลย์ และส่ง เลส ซีลี่ย์ ลงไปเฝ้าเสาแทน มันอาจดูเสี่ยงไปนิด แต่สุดท้ายซีลี่ย์ก็ช่วยให้ทีมทำคลีนชีท และมาร์ตินก็เป็นคนยิงประตูโทนในเกมนั้นช่วยให้ทีมคว้าแชมป์แรกในยุคของเซอร์ อเล็กซ์ ได้สำเร็จ
ชัยชนะในเอฟเอ คัพ ไม่เพียงแต่จะช่วยยืดอายุการคุมทีมของเขาออกไปเท่านั้น มันยังทำให้ทีมได้สิทธิ์ไปเตะในยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ อีกด้วย นี่เป็นรายการที่กุนซือชาวสก็อตเคยทำได้มาแล้วสมัยยังคุมอเบอร์ดีน การได้ไปเตะในเวทียุโรปถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มันเป็นการผจญภัยที่น่าจดจำสำหรับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้างกับทีม ทั้งเปสซี่ มุนกัส, เร็กซ์แฮม, มงต์เปลลิเยร์ และเลเกีย วอร์ซอว์ อาจไม่ใช่ทีมที่แข็งแกร่งอะไรมากนัก แต่มันก็น่าแปลกใจที่ทีมรองบ่อนอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในตอนนั้นสามารถทะลุผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศไปพบกับบาร์เซโลน่าได้

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฉลองชัยชนะเหนือบาร์เซโลน่าที่ร็อตเตอร์ดัม
ในค่ำคืนที่ฝนพรำนั้นที่ร็อตเตอร์ดัม ฮิวจ์สได้ซัดประตูทีมเก่าถึง 2 ลูกช่วยให้ทีมปีศาจแดงโค่นทีมของ โยฮัน ครัฟฟ์ ลงได้ ถือเป็นฤดูกาลที่น่าประทับใจ การแข่งขันภายในประเทศก็เช่นกัน แม้ว่าการจบอันดับที่ 6 จะไม่น่าพึงพอใจเท่าไหร่นักสำหรับผู้จัดการทีม การจบอันดับตามหลังคู่ปรับร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถือว่าเป็นอะไรที่น่าผิดหวัง ทางสโมสรถูกตัดคะแนน 1 แต้มด้วยจากการทะเลาะวิวาทกับผู้เล่นของอาร์เซนอลในเกมที่แพ้คาถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด ไป 0 – 1 โดยต้นเหตุมาจาก ไนเจล วินเทอร์เบิร์น ที่ไปเยาะเย้ยแม็คแคลร์ที่พลาดจุดโทษในเกมที่พบกันในปี 1988
จากนั้นทีมปีศาจแดงก็ได้กลับไปเตะที่เวมบลีย์อีกครั้งในรายการรัมเบโลว์ส คัพ โดยก่อนหน้านั้นก็ผ่านทีมแข็งๆ อย่างลิเวอร์พูล และอาร์เซนอล (ชนะ 6 – 2 โดย ลี ชาร์ป ซัดแฮตทริค) มาได้ จากนั้นก็มาปราบลีดส์ในรอบตัดเชือก น่าเสียดายที่ต้องไปแพ้ต่อทีมจากดิวิชั่น 2 อย่างเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ที่คุมทีมโดยแอตกินสันในรอบชิงชนะเลิศ โดยพวกเขาได้ประตูชัยจากนักเตะที่เกิดในสเตรทฟอร์ดอย่าง จอห์น เชอริแดน แถมอดีตนักเตะปีศาจแดงอย่าง คริส เทอร์เนอร์ ก็เฝ้าเสาได้อย่างเหนียวแน่นอีกต่างหาก
แต่ถึงอย่างไรความหวังที่จะคว้าแชมป์ลีกได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1967 ก็ยังไม่หายไปไหน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมาเบียดแย่งตำแหน่งแชมป์อีกครั้ง ตอนนั้นนอกจากในทีมจะมีชาร์ปที่มีพรสวรรค์อันน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ทีมก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในตำแหน่งปีกซ้ายขึ้นไปอีกหลังจากที่ ไรอัน กิ๊กส์ แจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว การอดทนรอคอยของเซอร์ อเล็กซ์ เริ่มผลิดอกออกผล ท่ามกลางความฝันอันเรืองรองของทุกๆ คน

เซอร์ อเล็กซ์ กับถ้วยแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ ปี 1991

เจสเปอร์ โอลเซ่น และจอห์น ซีฟแบค สองนักเตะชาวเดนิช

นอร์แมน ไวท์ไซด์ ในเกมเจอนอริช ซิตี้ ปี 1986

โคลิน กิ๊บสัน ฉลองประตูในเกมเจอดาร์บี้ ปี 1988

ไบรอัน ร็อบสัน, รัสเซลล์ บีร์ดสมอร์, ลี มาร์ติน และลี ชาร์ป

ไมเคิ่ล ไนท์ตัน ในเกมเจออาร์เซนอล ปี 1989
ตอนหน้า ยุคสมัยของ เซอร์ อเล็กซ์ : 1991-1996
SiR KeaNo

2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC

Related Posts